สไลด์โชว์

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

การออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์






ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์

สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเปลี่ยนไป มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ความขี้เกียจเข้าสิงคนส่วนใหญ่ สังคมคนเมืองใช้ชีวิตบนโต๊ะทำงาน หน้าคอมพิวเตอร์ หน้าจอมอนิเตอร์ แม้กระทั่งตัวแพทย์เองก็ยังใช้ชีวิตที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อสุขภาพขาดการออกกำลังกาย ใช้รถแทนการเดิน ใช้ลิฟต์แทนการขึ้นบันได รูปร่างของคนเมืองอ้วนขึ้น สิ่งเหล่านี้คือปัญหาสุขภาพของสังคมเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว ด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก
คำว่า “aerobics” มาจากรากศัพท์กรีกโบราณแปลว่า “อากาศกับชีวิต” (airlife) ซึ่งมีนัยว่าต้องมีออกซิเจน (Oxygen) เกี่ยวข้องด้วย หมายถึง ความต้องการอากาศ (ออกซิเจน) ของสิ่งมีชีวิตในการดำเนินชีวิตให้อยู่ได้
แอโรบิกดานซ์ (Aerobics Dance) เป็นวิธีการออกกำลังกายชนิดหนึ่งที่นำเอาท่าบริหารกายต่างๆผสมผสานกับทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้น และจังหวะเต้นรำที่จะกระตุ้นให้หัวใจและปอดต้องทำงานมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง ด้วยระยะเวลาที่นานเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นการสร้างบรรยากาศในการออกกำลังกายที่สนุกสนานรื่นเริงลืมความเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่ายได้ ทั้งยังสร้างความแข็งแรง ความทนทานของระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือด หัวใจและปอดได้ดีขึ้น ทำให้รูปร่างสมส่วนมีบุคลิกภาพที่ดี
การออกกำลังกายแบบแอโรบิคนั้น เป็นที่นิยมในปัจจุบันในรูปแบบของ แอโรบิกดานซ์ AEROBIC DANCE ในต่างประเทศนั้น นิยมการออกกำลังกายที่แตกต่างกันไป ในประเทศจีนนั้น เป็นการออกกำลังกายในตอนเช้า ในประเทศ ในประเทศเยอร์มันนิยมการออกกำลังกายที่เรียกว่าGYMNASTIC AEROBIC หรือในยุโรปอาจเรียกว่า GYMNASAPATA และพบหลักฐานว่า ในยุโรปนั้นรู้จักการออกกำลังกายแบบแอโรบิคมานานกว่า 100 ปี แต่ไม่มีหรือไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีเข้าประกอบจังหวะท่าทาง ต่อมาสหรัฐอเมริกา ได้นำดนตรีเข้าประกอบจังหวะท่าทาง ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้นำดนตรีเข้ามาประกอบ ทำให้เกิดความนิยมแพร่หลายขึ้นในปัจจุบัน และได้มีการเรียกชื่อกันหลายอย่างเช่น Slimnastic Aerobic, Jazz dance , Jagging Dance of Aerobic Dance ซึ่งหลักการเรียกชื่อนั้นอาจเป็นไปตามลักษณะท่าทางที่ประกอบหรือดนตรีที่ประกอบนั่นเอง สรุปแล้วก็มาจากการบริหารกายประกอบดนตรีนั่นเองประวัติความเป็นมาของแอโรบิกดานซ์
คำว่า AEROBIC นั้น นายแพทย์ เคนเน็ธ คูเปอร์ ของสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1968 เป็นผู้เสนอหรือเรียกเป็นคนแรก และได้ให้ความหมายของแอโรบิกเอ็กเซอร์ไซส์ (Aerobics Exercise) ว่า “เป็นการส่งเสริมการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและใช้ออกซิเจนนั้น” และยังได้คิดค้นวิธีออกกำลังกาย โดยเขียนเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับความรู้เรื่องการออกกำลังกายที่ต้องอาศัยอากาศ (Aerobics Exercise) ขึ้นในปี ค.ศ. 1968 ปรากฏว่าหนังสือได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมจากกลุ่มคนทั่วไป เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปฝึกปฏิบัติ และหลังจากนั้นประมาณ 1 ปี ได้มีการประยุกต์ให้เป็นการออกกำลงกายที่เรียกว่า “แจ๊สเซอร์” โดยครูฝึกเต้นรำจังหวะแจ๊ส ชื่อ จูดี้เชพพาร์ด มิสเซตต์ ได้นำเอาการฝึกการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเอ็กเซอร์ไซส์มาผสมผสานกับการเต้นรำแจ๊ส ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวอเมริกันในขณะนั้น
ต่อมาในปี ค.ศ. 1979 แจ๊กกี้ โซเรนเซ่น ได้คิดค้นและพัฒนาการบริหารร่างกายโดยอาศัยหลักพื้นฐานของแอโรบิก มาปรปะยุกต์ให้เข้ากับจังหวะดนตรี รวมทั้งมีการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องอาศัยหลักการของวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาประกอบด้วย จึงทำให้การออกกำลังกายในลักษณะดังกล่าวเกิดความสนุกสนาน และก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อร่างกาย
การออกกำลังกายด้วยการเคลื่อนไหว หรือการเต้นไปตามจังหวะเพลง จึงเป็นที่นิยมและรู้จัก
กันในชื่อที่เรียกโดยทั่วไปว่า แอโรบิกดานซ์ (Aerobics Dance) และยังได้มีการผลิตเป็นสื่อวีดีโอเทป เทปเพลง รวมทั้งชุดที่สวมใส่ในการเต้นแอโรบิกขึ้นมาเพื่อจำหน่าย นี่เป็นดัชนีที่ช่วยบอกถึงความนิยมในการออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์ได้เป็นอย่างดี จากอเมริกาสู่ทวีปยุโรปและแพร่กระจายเข้ามาในทวีปเอเชีย นอกจากนี้เมื่อปี ค.ศ. 1984 ในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 23 ณ นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำการเต้นแอโรบิกเข้ามาบรรจุเป็นหนึ่งในการแสดงในพิธีเปิดเพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันก็ได้บรรจุเขาเป็นหนึ่งในประเภทกีฬาเพื่อการแข่งขันชิงเหรียญทองทั้ง โอลิมปิก, เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ เรียกว่า Sports Aerobics จัดอยู่ในกลุ่มประเภทกีฬายิมนัสติก
แต่แอโรบิกได้รับความนิยมอย่างสูงสุดจริง ๆ เมื่อ เจน ฟอนด้า อดีตดาราสาวจากฮอลลีวู๊ดของสหรัฐ ฯ ซึ่งเคยเป็นนักยิมนาสติกมาก่อน ได้เปิดสอนและจำหน่ายเสื้อผ้าชุดฝึก วีดีโอเทป แถบเพลงและหนังสือฝึกแอโรบิกดานซ์ ทำให้ประชาชนทั่วโลกรู้จักและฝึกกันอย่างจริงจัง ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 เป็นต้นมา
แอโรบิกดานซ์ในประเทศไทย
ประมาณปี พ.ศ. 2518 ประชาชนชาวไทยได้มีการตื่นตัวในการออกกำลังกายมากขึ้นทั้งนี้เพราะชาวไทยมีความเข้าใจในเรื่องของการศึกษามากขึ้น และเข้าใจถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายว่าสามารถลดโรคภัยไข้เจ็บได้ ในระหว่างปี พ. ศ. 2518 ได้มีกลุ่มนักธุรกิจเปิดสถานบริหารร่างกายขึ้น ซึ่งบริหารโดยคนไทย ซึ่งสืบสานและนำตัวอย่างมาจากสถานบริหารร่างกายโดยชาวอเมริกากันซึ่งเป็นนักธุรกิจมาทำงานในกรุงเทพ ฯ ในระยะแรกวิธีการสอนการออกกำลังกายสำหรับประชาชนที่เข้าไปร่วมกิจกรรมนั้น เป็นวิธีการบริหารร่างหายดังกล่าว ได้มีวิทยากรชื่ออาจารย์สุกัญยา มุสิกวัน ได้เข้าไปเป็นวิทยากรและเล็งเห็นว่า กิจกรรมที่จัดให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมบริหารร่างกายนั้นไม่เพียงพอกับการเสริมสร้างสมรรถภาพเท่าใดนัก ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2519 อาจารย์สุกัญยา มุสิกวัน จึงได้จัดกิจกรรมชื่อว่า Slimnastic ซึ่งมาจากคำว่า Slim + Gymnastic ซึ่งเป็นกิจกรรมบริหารร่างกายประกอบเพลง เป็นเครื่องมือในการออกกำลังกายสำหรับสมาชิก อันทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินมากขึ้น กิจกรรมดังกล่าว ได้เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายเบื้องต้นประกอบจังหวะดนตรีเป็นกิจกรรมบริหารร่างกายเพื่อลดสัดส่วนของร่างกาย ในปี พ.ศ. 2522 อาจารย์สุกัญยา มุสิกวัน (พานิชเจริญนาม) ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เดินทางกลับมาในปี พ.ศ. 2526 ได้เล็งเห็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวแบบ Slimnastic ควรเป็นไปในรูปแบบแอโรบิกดานซ์เหมือนสากล จึงได้เริ่มสอนและได้จัดอบรมให้ผู้ที่สนใจและลูกศิษย์ ให้นำไปเผยแพร่ทั่วประเทศ โดยจัดในรูปสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ณ สนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 130 คน จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และนับจากปี 2526 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แอโรบิกดานซ์จึงเป็นกิจกรรมที่แพร่หลาย และมีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพลศึกษา ระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา และด้านเอกชน ก็เปิดบริการให้ประชาชนทั่วไปฝึกร่างกายเพื่อให้ร่างกายมีความอดทนและได้มาซึ่งรูปร่างที่ดี การออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์ ได้มีการพัฒนาและมีวิวัฒนาการเป็นการออกกำลังกายได้หลายรูปแบบ เช่น แอโรบิกดานซ์แบบแจซเซอร์ไซด์ แอโรบิกในน้ำ เสต็ปแอโรบิก เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีความสนุกสนานจากการออกกำลังกายและคงการออกกำลังกายให้นานที่สุด ที่สำคัญก็เพื่อประโยชน์จากการออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์ และเป็นการออกกำลังกายที่สนุกสนานและได้ประโยชน์มากที่สุดนั่นเอง
ความหมายและประเภทของแอบิกดานซ์
แอโรบิกดานซ์ (Aerobics Dance) หมายถึง วิธีการออกกำลังกายชนิดหนึ่งที่นำเอาท่าบริหารกายต่างๆผสมผสานกับทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้น และจังหวะเต้นรำที่จะกระตุ้นให้หัวใจและปอดต้องทำงานมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง ด้วยระยะเวลาที่นานเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นการสร้างบรรยากาศในการออกกำลังกายที่สนุกสนานรื่นเริงลืมความเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่ายได้ ทั้งยังสร้างความแข็งแรง ความทนทานของระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือด หัวใจและปอดได้ดีขึ้น ทำให้รูปร่างสมส่วนมีบุคลิกภาพที่ดี
ประเภทของการเต้นแอโรบิก
การเต้นแอโรบิกในปัจจุบันมีหลายแบบด้วยกัน ถ้านำลักษณะการเคลื่อนไหวเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภทจะสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. การเต้นที่มีแรงกระแทกต่ำ (Low – impact aerobics dance) การเต้นที่มีแรงกระแทกต่ำ เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะของการกระแทกระหว่างร่างกายกับพื้นที่มีบ้างเล็กน้อยหรือเกือบจะไม่มีเลย เช่น สปริงข้อเท่า การย่อเข่าการเดิน เป็นต้น
2. การเต้นที่มีแรงกระแทกสูง (High – impact aerobics dance) การเต้นที่มีแรงกระแทกสูง เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะของการกระแทกระหว่างร่างกายกับพื้นที่ค่อนข้างจะรุนแรง เช่น การกระโดดลอยตัวและลงสู่พื้นด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือด้วยเท้าทั้งสองข้าง
3. การเต้นที่มีแรงกระแทกหลากหลาย (Multi – impact aerobics dance) การเต้นที่มีแรงกระแทกหลากหลายเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะของแรงกระแทกต่ำและแรงกระแทกสูงผสมกัน ซึ่งผู้เต้นจะใช้แรงกระแทกต่ำหรือแรงกระแทกสูงมากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของผู้เต้นและจังหวะเพลง
4. การเต้นที่ปราศจากแรงกระแทก (No – impact aerobics dance) การเต้นแอโรบิกที่ปราศจากแรงกระแทก เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ไม่มีแรงกระแทกระหว่างร่างกายกับพื้น เช่น การเต้นแอโรบิกในน้ำ เป็นต้น
จุดมุ่งหมายสำคัญของการออกกำลังกายด้วยแอโรบิก
จุดมุ่งหมายสำคัญของการออกกำลังกายด้วยแอโรบิกเพื่อทำให้ร่างกายใช้ออกซิเจนให้มากที่สุด เท่าที่ร่างกายจะใช้ได้ ในเวลาที่กำหนด (ซึ่งจะไม่เท่ากันในแต่ละคน) ซึ่งในการออกกำลังกายด้วยแอโรบิกนี้ ส่วน ของร่างกายที่จะต้องปรับตัวให้ทันกันก็คือ
1. ระบบหายใจจะต้องเร็วและแรงมากขึ้น เพื่อจะได้นำเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น พอที่ จะไปฟอกเลือดที่จะต้องหมุนเวียนมากขึ้น
2. หัวใจจะต้องเต้นเร็วและแรงขึ้น เพื่อจะได้สูบฉีดเลือดได้มากขึ้น เพราะขณะที่ออกกำลังกาย อย่างหนักนั้น กล้ามเนื้อจะต้องการเลือดมากขึ้นประมาณ 10 เท่า
3. หลอดเลือดทั้งใหญ่และเล็กจะต้องขยายตัวเพื่อให้สามารถนำเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการออกกำลังกายมากมายหลายอย่างที่ร่างกายต้องใช้ออกซิเจน แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการออกกำลังกาย ด้วยแอโรบิก เพราะทำไปแล้วไม่เกิดผลจาการฝึก เช่น การวิ่งระยะสั้น ที่แม้ผู้วิ่งจะเหนื่อยมากระหว่างที่วิ่ง แต่ก็ด้วย เวลาที่สั้นมาก หรือการยกน้ำหนักนับร้อยกิโลกรัม ซึ่งก็เป็นงานที่หนัก การใช้เวลาเพียงอึดใจเดียวหรือนักกล้ามที่ ออกกำลังกายจนมีกล้ามมัดโตๆ แต่ปอดและหัวใจอาจจะไม่มีความแข็งแรงทนทานเลยก็ได้
สรุปว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกนั้น จะต้องทำให้หนักพอ จนหัวใจเต้นเร็วขึ้นจนถึงอัตราที่เป้าหมาย จะต้องทำติดต่อกันให้นานพอประมาณถึง 15 ถึง 45 นาที (ถ้าทำหนักมากก็ใช้เวลาน้อย แต่ถ้าทำหนักน้อยก็ใช้เวลามาก) ต้องทำบ่อยพอ คืออย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ถึง 5 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายที่ไม่หนักจนถึงขั้นแอโรบิกนั้น แม้จะไม่เกิดผลจากการฝึกอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังเป็นผลดีต่อร่างกายโดยรวม และดีกว่าการไม่ออกกำลังกายเลยอย่างแน่นอน
องค์ประกอบสำคัญในการเข้าร่วมการออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์ (FFIT)
FUN (F = สนุกสนาน ท้าทายความสามารถ) ต้องเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและท้าทายความสามารถ ไม่น่าเบื่อ กิจกรรมที่จัดควรหลากหลาย จัดให้เหมาะสมกับความต้องการ เพศ วัย และระดับความสามารถ
Frequency ( F = ความบ่อย) ควรเต้นอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ และอย่างมาก 6 วันต่อสัปดาห์ โดยให้มีวันพัก 1 วันต่อสัปดาห์ เพราะจะมีผลช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบภายในร่างกาย เช่น ความดันเลือด ระดับคอเลสเตอรอล การไหลเวียนโลหิต และการคงสภาพความสามารถทางด้านร่างกาย
Intensity (I= ความหนัก) การออกกำลังกายจะหนักหรือไม่หนักเพียงใด อัตราการเต้นของหัวใจ (ชีพจร)จะเป็นตัวบ่งชี้ ให้แต่ละบุคคลสามารถตัดสินใจในการออกกำลังกายของตนโดยใช้สูตรของคาร์โวเนน (Karvonen Formula) ในการคำนวณหาอัตราชีพจรเป้าหมายหรือความหนักเป้าหมาย (Target Heart Rate : THR) ตามระดับความสามารถหรือความฟิตและอายุของบุคคลนั้น เพื่อกำหนดความหนักในการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสูตรนี้กำหนดความหนักแนะนำอยู่ระหว่าง 65-85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด
Time (T= ระยะเวลา) ควรจะออกกำลังกายนานเท่าใด เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาระยะเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับความหนักของการออกกำลังกาย ความฟิต อายุ จุดมุ่งหมายแแรงจูงใจในการออกกำลังกาย เวลาในการออกกำลังกายประมาณ 15-60 นาทีก็ได้ เช่น การออกกำลังกายที่มีความหนักหรือความเข้มสูง อาจจะกำหนดเวลาที่สั้นกว่าการออกกำลังกายที่เบาที่ต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่า และการออกกำลังกายที่ให้ประโยชน์สูงสุดและลดอัตราการเสี่ยงอันตรายจากการเต้น คือ การเต้นที่มีความหนักปานกลางในระยะเวลาที่นานกว่า คือ ประมาณ 45-60 นาที และควรเป็นการเต้นแบบแรงกระแทกต่ำ (Low Impact)
ประโยชน์ของการออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์
การออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์ให้ทั้งคุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกาย โดยจำแนกออกเป็นข้อๆ ดังนี้
1. เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งการเต้นแอโรบิกจะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อของร่างกายโดยทั่วไป หรือสามารถเน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนได้ ซึ่งผู้ออกกำลังกายสามารถเลือกท่าบริหารเพื่อจะเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในส่วนที่ตนต้องการ
2. เพื่อเพิ่มความทนทานของร่างกาย โดยทั่วไปความทนทานของร่างกายจะแยกออกเป็น ความทนทานของกล้ามเนื้อและความทนทานของระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งเป็นความทนทานที่ช่วยให้ร่างกายสามารถทำลานได้เป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่เกิดความเหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายแบบเต้นแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ จะมีผลให้หัวใจสูบฉีดโลหิตได้ดี มีความจุปอดเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตเป็นไปด้วยดี ขณะออกกำลังกายจะเหนื่อยช้าและหายเหนื่อยเร็วขึ้น
3. เพื่อเพิ่มความอ่อนตัวของร่างกาย การบริหารร่างกายในท่าที่ช้า โดยเน้นเกี่ยวกับแรงต้านทานความตึงของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็นให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มมุมของข้อต่อในการเคลื่อนไหวแต่ละจังหวะอีกด้วย ผู้ที่มีความอ่อนตัวของร่างกายสูงสามารถป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี
4. เพื่อช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกาย ทำงานประสานกันด้วยดี เช่น ระบบประสาท ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหาร แม้แต่ระบบขับถ่าย ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของระบบต่าง ๆ มีผลทำให้ร่างกายสามารถปรับตัวและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย เป็นผลจากการออกกำลังกายแบบเต้นแอโรบิก
5. เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี การเต้นแอโรบิก คือองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อการช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งสามารถแก้ไขความบกพร่องของร่างกาย ที่ทำให้บุคลิกภาพเสียไป เช่น ท่าทางการยืน การเดิน ความอ้วนจนเกินไปนั้นทำให้แลดูไม่มีสง่าราศี การจัดโปรแกรมการเต้นแอโรบิกด้วยท่าทีเหมาะสม จะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ได้
6. เพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของร่างกาย การเต้นแอโรบิก เป็นการออกกำลังกายที่เคลื่อนไหว ไปตามจังหวะของเสียงเพลงนอกจากจะทำให้ผู้เต้นเกิดความแข็งแรงยังสามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดขณะออกกำลังกาย ซึ่งส่งผลให้จิตใจไร้ความกังวล
7. ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายช่วยชะลอความแก่ ช่วยลดน้ำหนักตัวส่วนเกินและเพิ่มน้ำหนักตัวส่วนที่ยังขาด ช่วยเสริมสร้างความกล้าหาญและความเชื่อมั่นในตัวเอง มองโลกในแง่ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีระเบียบวินัย ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ช่วยให้สมองเริ่มทำงานได้อย่างฉับไว ทั้งนี้การเต้นแอโรบิกต้องปฏิบัติตามหลักและวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องทั้งก่อนเต้น ขณะเต้น และหลังการเต้น เพื่อร่างกายจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเต้นแอโรบิก
อุปกรณ์ประกอบการเต้นแอโรบิกดานซ์
1. รองเท้าและถุงเท้า เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุด เพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บ ควรใช้รองเท้าที่ออกแบบไว้สำหรับการเต้นแอโรบิก ซึ่งช่วยลดแรงกระแทกในแนวดิ่งแรงกดบิส่วนต่าง ๆ ของเท้าและข้อเท้า ซึ่งเกิดจาการเคลื่อนที่ในแนวราบทุกทิศทาง ผู้เต้นไม่ควรเสี่ยงกับรองเท้าเก่าหมดอายุแล้ว รองเท้าสำหรับการเต้นแอโรบิกควรมีลักษณะโดยสรุป ดังนี้
1.1 บริเวณส่วนบนของหุ้มส้น จะต้องสูงขึ้นและมีแผ่นนุ่มรองรับบริเวณตรงกับเอ็นร้อย หวาย เพื่อป้องกันไม่ให้ระคายเคืองต่อเอ็น
1.2 ด้านข้างของบริเวณหุ้มส้นทั้งสองด้านจะต้องแข็งแรง เพื่อป้องกันการบิดหมุนของส้นเท้า ทำให้บริเวณส้นเกิดความมั่นคง
1.3 บริเวณปลายเท้าจะต้องหนุนขึ้น (อย่างน้อยครึ่งนิ้ว) เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วและเล็บถูก เบียด ซึ่งจะทำให้เกิดเลือดคลั่งในเล็บได้ และช่วยยืดอายุการใช้งานของรองเท้าจากการเคลื่อนไหวที่ รวดเร็ว
1.4 ลิ้นรองเท้าจะต้องบุให้นิ่ม และปิดส่วนบนของฝ่าเท้าได้หมด เพื่อป้องกันเอ็นและ กล้ามเนื้อกระดูก ถูกเสียดสีและระคายเคืองจนอักเสบได้
1.5 บริเวณเส้นรองเท้าจะต้องฝานให้เป็นรูปมน เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวจังหวะต่อไป เป็นไปได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
1.6 ที่ส้นรองเท้าจะยกสูงขึ้นและมีความยืดหยุ่นดีพอ เพื่อจะรับแรงกระแทกของส้นเท้าได้
1.7 พื้นรองเท้าบริเวณกึ่งกลางจะต้องพับงอได้ เพื่อการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวและป้องกัน การบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวาย
1.8 พื้นรองเท้าควรมีลายที่ช่วยลดแรงกระแทกและยึดเกาะพื้นไม่ให้เลื่อน
1.9 ที่รองพื้นรองเท้าด้านใน ควรมีฟองน้ำเสริมอุ้งเท้า เพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บบริเวณ ส้นเท้า การอักเสบของพังผืดยึดกระดูกฝ่าเท้า ผู้เล่นไม่ควรเสี่ยงกับรองเท้าเก่าหรือหมดอายุแล้ว
2. ชุดออกกำลังกาย ควรลักกุม ง่ายต่อการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเต็มที่ เนื้อผ้าระบาย ความร้อนและซับเหงื่อได้ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง ควรเป็นผ้ายืด การสวมชุดรัดรูป หรือเป็นชุดออกกำลัง กายที่เป็นชุดกางเกงติดกับเสื้อ ( Leotard ) จะช่วยให้ผู้สวมใส่มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายขณะบริหาร เสื้อจะไม่เลื่อนหลุดขึ้นมาเหนือเอว อีกทั้งช่วยให้ผู้สวมใส่มองเห็นท่าทางการ เคลื่อนไหวของร่างกายของตนเองได้ชัดเจนหรือทำให้เห็นรูปทรงส่วนเกิน ส่วนขาดที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ให้เข้าที่เข้าทาง
3. เสื้อชั้นใน ให้รัดพอดี รอบ ๆ ส่วนที่เป็น cup ถ้าเป็นชนิดไม่มีตะเข็บ (seamless) ที่ ผลิตออกมาโดยปั้มจากพิมพ์ ไม่ควรใส่ เพราะยกทรงแบบเต็มตัว เมื่อออกกำลังกายแล้ว จะทำให้กล้ามเนื้อ บริเวณหลังและใต้อกเคลื่อนไหวได้ยาก
4. กางเกงชั้นใน ไม่ควรใส่แบบที่รัดมากที่เรียกว่า สเตย์ เพราะเวลาออกกำลังกายกล้ามเนื้อ ส่วนนั้นจะเคลื่อนไหวได้ยาก ทำให้โลหิตบริเวณนั้นไหลเวียนไม่สะดวก เกิดผลเสียแก่อวัยวะสืบพันธุ์ในอุ้ง เชิงก้านด้วย ควรเลือกใช้กางเกงชั้นในที่มีความกระชับพอดี ถ้าเป็นผ้าที่ผสมฝ้ายมากยิ่งดี
5. เพลงประกอบการเต้นหรือดนตรี เพลงที่ใช้ควรเป็นเพลงที่ชื่นชอบของผู้ออกกำลังกาย มี จังหวะชัดเจน มีความเร็วพอดีกับการเปลี่ยนไปตามขั้นตอนของการออกกำลังกายช่วงต่าง ๆ เพลงที่ใช้ ประกอบมักมีหลายเพลง ซึ่งควรต่อเนื่องกันตลอดระยะเวลาการเต้น (Non-Stop) หรือ (Medley)
6. สถานที่ อาจเป็นกลางแจ้งหรือในร่ม ควรมีการระบายอากาศที่ดี มีเนื้อที่ว่างพอสมควร ไม่มีสิ่งเกะกะเกียดขวาง พื้นที่เรียบแต่ไม่ลื่น และควรมีคุณสมบัติผ่อนแรงกระแทก เช่นพื้นไม้เนื้อแข็งที่ โปร่งด้านล่าง พื้นกระเบื้องยาง ไม่ควรเต้นพื้นคอนกรีตหรือพื้นคอนกรีตปูทับด้วยพรม
7. เครื่องมืออื่น ๆ ได้แก่ Step Band, Hand weight, Elastic tubing, Elastic band ฯลฯ

การจัดระดับหรือชั้นของผู้ที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์
ผู้ที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์ ควรเข้าร่วมออกกำลังกายในชั้นที่เหมาะสมกับความสามารถ สมรรถภาพหรือจุดประสงค์ของการออกกำลังกาย การเต้นควรเริ่มจากง่ายไปหายาก จากเบาไปหนัก เพื่อให้ได้ผลเต็มที่และมีความปลอดภัย โดยแบ่งระดับความสามารถในการเต้นแอโรบิก เป็น 3 ระดับ คือ
1. ระดับเริ่มต้น เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเต้น ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน หรือผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นการฝึกเทคนิคการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน การวางท่า การบังคับการเคลื่อนไหว ร่างกายเฉพาะส่วน ท่าที่ใช้ในการเต้นจะง่ายและปลอดภัย ผู้เต้นควรหาโอกสาเรียนรู้ประโยชน์จากท่ากายบริหารต่าง ๆ และอันตรายจากท่าที่ไม่ถูกต้อง ควรฝึกประสาทสัมผัส เรียนรู้วิธีการใช้กำลังให้เต็มที่ เพื่อความหนักของงาน จังหวะในการเต้นช้า จังหวะเพลงชัดเจน ฝึกนับจังหวะการเคลื่อนไหวให้เข้าจังหวะและจัดลำดับท่า โดยทั่วไปใช้เวลาในการเต้น 30 ยาที เมื่อผู้เต้นสามารถปรับตัวได้จึงค่อย ๆ เพิ่มความยาก ความหนักและความนานของการเต้นต่อไป
2. ระดับกลาง เหมาะสำหรับผู้ที่ผ่านการเต้นระดับเริ่มต้นมาแล้ว โดยมีประสบการณ์ในการเต้นอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 6 เดือน หรือผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง พอที่จะสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ถูกต้องและคล่องแคล่ว คุ้นเคยกับท่าพื้นฐานต่าง ๆ สามารทำได้เร็วขึ้น หนักและนานขึ้นเป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือผู้ที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำ
3. ระดับสูง เหมาะสำหรับผู้ที่ชำนาญในการเต้นและมีประสบการณ์มานาน ผู้เต้นควรมีความสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่ มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความอ่อนตัว การทรงตัวและประสาทสัมผัสดี สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้ดี การเต้นระดับนี้มีความยากซับซ้อนและใช้กำลังเต็มที่จึงเหมาะสำหรับผู้นำการออกกำลังกายแบบแอโรบิกดานซ์
หลักการฝึกแอโรบิกด๊านซ์
1. เลือกท่าฝึกให้เหมาะกับสภาพของเพศและวัย กล่าวคือ ควรเป็นท่าที่สามารถทำได้ง่าย และไม่ขัดต่อสภาพร่างกายและความรู้สึก

2. ฝึกจากท่าง่ายไปหาท่ายาก จากเบาไปหาหนัก


3. ควรฝึกในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก


4. เน้นบริหารร่างกายส่วนไหน ก็ให้เลือกท่าที่ต้องใช้กล้ามเนื้อนั้นมาก ๆ เช่นต้องการลดไขมันที่หน้าท้อง ก็เลือกฝึกท่าที่ใช้กล้ามเนื้อท้องมาก ๆ


5. เวลา สถานที่ฝึก ไม่จำกัด ว่างเมื่อใด สถานที่ไหนก็ได้


6. เลือกท่าบริหารกายและฝึกให้ครบทุก ๆ ส่วนของร่างกาย


7.ชุดฝึกควรเป็นผ้ายืดและผ้าที่ใส่สบายไม่คับเกินไปหรือหลวมเกินไปสามารถระบายความร้อนได้ดี

...............ตัวอย่างการออกกำลังกายแอโรบิค.....................



.............แอโรบิคสำหรับเด็ก..............................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น